ถ้าเรามีกล้องวงจรปิดบันทึกเรื่องราวการเลี้ยงลูก ของพ่อแม่ และมองย้อนดูเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เราจะเห็นรูปแบบการเลี้ยงลูกที่ซ้ำๆ กัน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบออกมาเป็นคำต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ พ่อแม่เครื่องตัดหญ้า พ่อแม่พลาสติกกันกระแทก พ่อแม่เสือ พ่อแม่แมงกระพรุน พ่อแม่โลมา
การเปรียบเทียบแบบนี้ช่วยให้พ่อแม่ได้ทบทวน การเลี้ยงลูกของตัวเองว่าส่วนมากเป็นแบบไหน พ่อแม่คนหนึ่งๆ อาจจะมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกได้หลายแบบ ซึ่งโดยปกติมักเป็นไปตามบุคลิกภาพพื้นฐาน แต่บางครั้งก็เป็นไปตามสถานการณ์ตอนนั้นๆ ที่พ่อแม่อาจเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างไปจาก บุคลิกภาพพื้นฐานของตัวเอง หรือ แม้กระทั่งพฤติกรรมบางอย่างก็อาจจะมาจากบาดแผลทางใจ
ในอดีตของพ่อแม่เอง
อนาคตลูกของเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากหรือ น้อยเพียงใด พฤติกรรมการเลี้ยงลูกของพ่อแม่จะเป็นข้อบ่งชี้ ทิศทางการใช้ชีวิตของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
1 พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์
พฤติกรรมของพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์คือ มักวนเวียนดู เฝ้ารอที่จะโฉบลงมาแทรกแซงแทนลูก ตัวอย่างเช่น ลูกเห็นแม่ล้างจาน ก็อยากช่วย พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ก็อาจยอมให้ลูกลองทำได้ แต่ในขณะที่ลูกทำอยู่ เมื่อเห็นการกระทำของลูกที่ชักช้า ไม่ถูกไม่ควร ไม่ได้อย่างใจ ก็จะเข้าไปแทรกแซง จัดการ สั่งให้ลูกหยุดและพ่อแม่ทำต่อเอง การทำแบบนี้ของพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ลูกขาดความกระตือรือร้นใฝ่เรียนรู้ ขาดความมั่นใจ ขาดโอกาสเสริมสร้างพลังแห่งความมุ่งมั่น (willing)
โดยปกติแล้วเด็กๆ สนใจใคร่รู้อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ พ่อแม่ควรบอกว่าอะไรที่ทำได้ และทำได้แค่ไหนอย่างไร กรณีการล้างจาน พ่อแม่อาจจะเริ่มทำให้ดู บอกขั้นตอน และวิธีการ ต่อจากนั้นก็ทำด้วยกันโดยอาจจะให้ช่วยล้างในน้ำสะอาดสุดท้ายก่อนก็ได้ และค่อยๆ ให้เขาช่วยทำในขั้นตอนอื่น เมื่อเห็นว่าเขามีทักษะที่พอทำได้เองแล้วจึงปล่อยให้เขาทำเองทั้งหมด สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องตระหนักเสมอว่าการล้างจานของลูกเป็นกระบวนการพัฒนากล้ามเนื้อ เสริมสร้างวงจรสมองให้มีพลังความมุ่งมั่น ไม่ได้หวังคุณภาพ ประสิทธิภาพของการล้างจาน เขาอาจจะทำไปเล่นไป สนุกสนานตามประสาเด็ก และนอกจากการพัฒนาดังที่กล่าวแล้วยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง (secure attachment) ได้อีกด้วย
ในกรณีที่ลูกผิดพลาดเช่น อาจทำจานแตกบ้าง พ่อแม่ควรถือโอกาสนี้เป็นการเรียนรู้ เพราะมนุษย์พัฒนาการเรียนรู้มาจากการลองผิดลองถูก ถ้าลูกไม่มีโอกาสได้เรียนรู้จากการทำผิดพลาดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อนาคตเขามีโอกาสสูงที่จะทำผิดพลาดในเรื่องใหญ่ได้ แต่หากพ่อแม่ใช้กระบวนการทำโทษจะทำให้เขาไม่กล้าเผชิญความท้าทายใดๆ ไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะกลัวความผิดพลาดนั่นเอง
2 พ่อแม่เครื่องตัดหญ้า
ถ้าพื้นที่ชีวิตเสมือนสนามหญ้าที่กว้างขวาง พ่อแม่เครื่องตัดหญ้าจะให้ลูกเดินและวิ่งเล่นได้เฉพาะพื้นที่ที่ได้ตัดหญ้าไว้แล้วเท่านั้น พ่อแม่แบบนี้จะลิขิตชีวิตของลูกไว้ ให้ตลอด เตรียมการทุกสิ่งทุกอย่างไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าลูกจะทำอะไร จะอยู่ข้างหน้าลูกหนึ่งก้าวเสมอ คอยกำจัดอุปสรรคทั้งหลาย คอยบอกคอยสอนลูกว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เลือกให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก และมักบอกลูกว่าที่พ่อแม่เลือกให้อย่างนั้นเพราะหวังดี
พ่อแม่แบบนี้ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกอะไร พ่อแม่จะปูทางไว้ให้เดินว่า ลูกควรใช้ชีวิตแบบไหน มีกิจกรรมหรือเรียนพิเศษอะไร ที่ไหน อย่างไร บางคนถึงกับวางแผนการศึกษาให้ลูกไว้เลย ตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษาว่า จะให้เข้าเรียนที่ไหน
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็กคือ
เด็กจะเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องคอยทำตามคนอื่น ไม่มีเสียงของตัวเอง ทำตามทางเลือกที่พ่อแม่กำหนดเท่านั้น ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะพ่อแม่แสดงความเก่ง ความฉลาด และความรอบรู้ที่เหนือกว่าลูกทุกๆ อย่าง และบางครั้งเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะเป็นกบฏไปเลยก็ได้ คือไม่ทำตามทางเลือกของพ่อแม่แต่กลับทำสิ่งที่ตรงข้าม
แนวทางการปรับตัวที่เหมาะสมสำหรับ พ่อแม่เครื่องตัดหญ้า คือ การสร้างทางเลือกที่มากกว่าทางเดียว แล้วเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกทางของตัวเอง ถึงแม้เขาจะไม่ได้กำหนดทางเลือกเองแต่อย่างน้อย เขาก็ยังพอมีอิสระที่ได้เลือกบ้าง การให้อิสระไม่ใช่การตามใจ การให้เขาตัดสินใจเลือกทำหรือไม่ทำอะไร เป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในตัวเอง และเรียนรู้การยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ลูกมี Growth mindset ต่อไป
3 พ่อแม่พลาสติกกันกระแทก
เริ่มต้นตั้งแต่มีลูก พ่อแม่พลาสติกกันกระแทกจะบอกว่า หน้าที่ของตัวเอง คือต้องปกป้องลูกจากภัยทุกอย่าง แม้จะเป็นภัยเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ทำนองยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ตั้งแต่เล็กจนโตจะปกป้องลูกไม่ให้ถูกกระทบกระทั่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ
พ่อแม่แบบนี้มีความวิตกกังวล และความกลัวมาก ไม่ยอมให้ลูกได้เผชิญความท้าทายใดๆ แม้เพียงเล็กน้อย ไม่ให้เล่นหรือทำอะไรที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ไม่ให้เล่นกีฬาที่ต้องมีการประทะกัน เมื่อลูกโตพอที่จะเริ่มช่วยทำงานในครัวได้เช่น การหั่น การทอดไข่ ก็ไม่ยอมให้ลูกทำเพราะกลัวมีดบาดมือลูก กลัวน้ำมันกระเด็นใส่ลูก เมื่อเด็กไม่มีโอกาสได้ฝึกเผชิญความท้าทายเลย เขาจะเป็นคนขี้กลัว ไม่กล้าลงมือทำ เป็นคนที่พร่องปัญญาฐานกายซึ่งเป็นปัญญาของมนุษย์เพื่อการอยู่รอด ไม่สู้ชีวิต มักยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่าย
ส่วนการปกป้องทางจิตใจนั้น พ่อแม่พลาสติกกันกระแทก จะคอยดูแลให้ลูกดูดี สมบูรณ์แบบ ยกย่องชื่นชมลูก ไม่ตำหนิติเตียน กลัวว่าลูกจะเสียใจ น้อยใจ การปกป้องลักษณะนี้จะทำให้ลูกขาดทักษะการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เด็กบางคนเมื่อรู้สึกโกรธ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้จะแสดงออกแบบอาละวาดก้าวร้าว มีแนวโน้มเป็นคนที่บกพร่องปัญญาฐานใจ ซึ่งเป็นปัญญาของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เขาจะมีชีวิตโดดเดี่ยว รู้สึกไม่เป็นที่รัก ไม่มีความสุข ไร้ชีวิตชีวา
พ่อแม่พลาสติกควรยอมให้ลูกเผชิญความท้าทายได้บ้าง โดยค่อยๆ ปรับระดับความท้าทายให้เหมาะสมกับวัย ในด้านความรู้สึกก็ให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ญาติ เพื่อน ครู และบุคคลทั่วไป เพื่อเรียนรู้ความรู้สึกทั้งส่วนที่พอใจ ส่วนที่ไม่พอใจ หรือเฉยๆ และดูแลจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม
เมื่อลูกมีความพร้อมทั้งปัญญาฐานกายและฐานใจ เขาจะเป็นคนที่สามารถอยู่รอด และอยู่ร่วมได้อย่างมีความสุข
4 พ่อแม่เสือ
ในบรรดาพ่อแม่แบบต่างๆ พ่อแม่เสือเป็นจอมเผด็จการที่สุด ใช้อำนาจควบคุมลูกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้ตามความ ต้องการ เหมือนสัญชาตญาณเสือที่ล่าเหยื่อ พ่อแม่เสือบางคนใช้มาตรการรุนแรงในการเลี้ยงลูก บางคนมีกฏเกณฑ์มากมายที่ลูกต้องปฏิบัติ พร้อมมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม พ่อแม่เสือส่วนใหญ่กำหนดตารางชีวิตให้ลูก มักใช้คำพูดดุ ด่า บ่น พูดว่าต้องทำอย่างนั้นสิ ต้องทำอย่างนี้สิ ไม่เคยเปิดโอกาสให้ลูกได้คิด ได้เลือก ได้ตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง
ถ้าพ่อแม่เสือที่ชอบการแข่งขัน
และต้องการให้ลูกเป็นเลิศทางวิชาการ จะบังคับให้ลูกเรียนพิเศษ ให้ตั้งใจเรียน ให้อ่านหนังสือเยอะๆ โดยไม่ได้สนใจกิจกรรมอื่นๆ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่สนใจความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร ชีวิตลูกไม่มีความสมดุล
ปัญหาสำหรับเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดู ของพ่อแม่เสือ คือ เด็กไม่รู้สึกว่าเป็นที่รัก ขาดการควบคุมและแรงจูงใจในตัวเองจากภายใน (self esteem) พึ่งพาสภาพแวดล้อมภายภายนอกและรางวัลภายนอกมากไป ทำสิ่งต่างๆ เพื่อเป้าหมายและความสำเร็จเท่านั้น ขาดจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม บางคนที่ได้รับแรงกดดันมากๆ อาจเครียดถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ บางคนมีความกลัวติดตัวจนไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ
พ่อแม่เสือเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกอยู่แล้วในเรื่อง ความกล้า ความมุ่งมั่น ซึ่งเป็นปัญญาฐานกาย ลูกจะซึมซับเรียนรู้สิ่งนี้ได้ดีหากพ่อแม่เสือเปิดใจรับฟังลูกมากขึ้น สานสัมพันธ์กับลูกผ่านอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น แนวทางเบื้องต้นที่พ่อแม่เสือควรปรับ คือ หมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกตัวเองบ่อยๆ จะช่วยให้รู้สึกตัวเร็วขึ้นขณะที่ไม่พอใจลูก และขั้นต่อไปเมื่อรู้สึกตัวให้หยุดโฟกัสกับลูก ไปโฟกัสสิ่งอื่นก่อน พอใจสงบแล้วค่อยคุยกับลูก ฟังลูกก่อนแล้วค่อยบอกความรู้สึก ความต้องการของพ่อแม่เป็นคำพูดร้องขอแทนคำสั่ง
การฝึกฝืนของพ่อแม่เสือ อาจจะเป็นการยาก แต่ถ้านึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตอนาคตของลูก และด้วยความรักที่มีต่อลูก เชื่อว่าพ่อแม่เสือพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะเมื่อตั้งใจมุ่งมั่นจะทำสิ่งใด ต้องทำได้แน่นอน
5 พ่อแม่แมงกะพรุน
“ตามใจ” เป็นคำเดียวที่เพียงพอสำหรับการบอกเล่า พฤติกรรมของพ่อแม่แมงกะพรุน การเปรียบเทียบกับ แมงกะพรุนเพราะพวกนี้ไม่มีกระดูกสันหลัง พ่อแม่แบบนี้ มักหลีกเลี่ยง การเผชิญหน้าและมีกฎที่ชัดเจนไม่กี่ข้อ หรือบางทีไม่มีกฎอะไรเลยก็ได้ เลี้ยงลูกแบบตามใจทุกสิ่ง ทุกอย่าง ให้ลูกทำอะไรตามใจโดยไม่มีการชี้แนะ และไม่คำนึงว่าวัยของลูกมีความพร้อมในการตัดสินใจได้เองมากน้อยเพียงใด
เด็กที่ถูกตามใจมากเกินไปจะเป็นเด็กที่ “เอาแต่ใจ” มีแนวโน้มขาดทักษะในชีวิตประจำวันที่ต้องรับผิดชอบ ถึงวัยโตพอที่จะแต่งตัว และกินอาหารด้วยตัวเองแล้ว ก็ยังไม่ยอมทำเอง มีแนวโน้มขาดทักษะทางสังคมที่สำคัญๆ คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางที่คนอื่นๆ ต้องคอยเอาใจ ไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัวง่ายๆ ได้ ต้องร้องขอความช่วยเหลือตลอด
ลูกของพ่อแม่แมงกะพรุนอาจเติบโตขึ้นโดยไม่รู้ ความแตกต่างระหว่างความจำเป็นกับความต้องการ เพราะเขาได้รับการตอบสนองความต้องการตลอดเวลา เช่น เขาอยากกินอะไรก็ได้กินซึ่งบางครั้งก็ยังอิ่มอยู่ กินทิ้ง กินขว้างจนเป็นนิสัย มีแนวโน้มที่จะเป็นคนขาด ความรับผิดชอบ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
พ่อแม่แมงกะพรุนเป็นคนประเภทใจอ่อน ไม่กล้าปฏิเสธลูกตรงๆ ถ้าขัดใจลูกก็กลัวลูกจะไม่รัก หากต้องการแก้ปัญหานี้ สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ ฝึกปฏิเสธความต้องการของลูกที่เกินความจำเป็น เช่น เคยซื้อของเล่นให้ทุกครั้งที่ลูกอยากได้ ก็เปลี่ยนเป็นการซื้อให้โดยมีเงื่อนไขซึ่งอาจจะเป็นการ จำกัดวงเงินก็ได้ หรืออาจปฏิเสธเรื่องอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ลูกรู้ถึงความแตกต่างระหว่างความจำเป็นกับความต้องการ ส่วนทักษะอื่นๆ ที่ขาดนั้น พ่อแม่แมงกะพรุนคงต้องค่อยๆ ปรับแก้ในลำดับต่อไป
6 พ่อแม่โลมา
โลมามีความร่าเริงและเฉลียวฉลาด เป็นสัตว์สังคมขนานแท้ สอนลูกด้วยการทำให้ดู เล่น และชี้แนะ การเลี้ยงลูกวิถีโลมาเป็นการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (authoritative parenting ) พ่อแม่โลมาจะกำหนดกฎ และแนวทางชัดเจนขณะเลี้ยงลูก บอกเหตุผลและตอบสนอง ความต้องการทางอารมณ์ของลูก อย่างเหมาะสม (ไม่ใช่การสั่ง การเรียกร้อง การโน้มน้าว การติดสินบน และการบังคับ) คอยสนับสนุนลูกมากกว่าการลงโทษ หรือเพิกเฉย พ่อแม่โลมาต่างจากพ่อแม่แมงกะพรุน ช่างตามใจตรงที่จะบังคับใช้กฎที่จำเป็นอย่างพอดีๆ และต่างจากพ่อแม่เสือจอมเผด็จการตรงที่จะแสดง ความอบอุ่นอย่างเต็มที่ และสื่อสารเหตุผลที่ไปที่มาของกฎ
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ตามวิถีโลมา จะสร้างความผูกพันธ์มั่นคง (secure attachment) และปกป้องพวกเขาจากการสร้างปัญหาในตัวเอง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ลดโอกาสที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รวมถึงใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มมึนเมา เขาจะเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักการควบคุมอารมณ์ และมีทักษะที่ดีด้านความสัมพันธ์ เขาจะพึ่งพาตัวเองเป็นนักแก้ปัญหาและนักเรียนรู้ที่ดี มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น และมีสุขภาพทางอารมณ์ดี
พ่อแม่โลมาเลี้ยงลูกด้วยความรู้สึก ไม่บังคับลูกให้ทำอะไร แต่จะแนะไปให้ถูกทาง คอยระมัดระวังความปลอดภัยเพื่อปกป้องลูกจากอันตรายแต่ ปล่อยให้ลูกเจอกับผลลัพธ์ความผิดพลาดของตัวเองตามธรรมชาติเพื่อเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น และ ให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวเอง พ่อแม่โลมาใจดีและโอบอ้อมอารีเกือบตลอดเวลา แต่ก็มีข้อจำกัดว่าจะอดทนถึงแค่ไหน
การเปรียบเทียบพ่อแม่เป็นเฮลิคอปเตอร์ เครื่องตัดหญ้า พลาสติกกันกระแทก เสือ แมงกระพรุน และโลมา ช่วยสะท้อนให้เห็นวิธีการเลี้ยงลูกว่าเป็นแบบไหน และจะส่งผลต่อแนวโน้มในอนาคตของลูกอย่างไรบ้าง
การเลี้ยงลูกในสมัยนี้ พ่อแม่ ต้องมีความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง generation ของพ่อแม่กับลูกๆ SMART-i Camp มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้เด็กไทยรู้จักตัวเอง ซึ่งจะทำให้การสื่อสารภายในครอบครัวทำได้ยากขึ้นและจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวในระยะยาว ท่านสามารถติดตามแนวทางการดูแลลูกและการให้การศึกษาแก่ลูกๆได้ที่ www.smart-icamp.com : Engraving The Future
ครูแก๊ป
ศิริภพ โสมาภา
คำเปรียบเทียบพฤติกรรมการเลี้ยงลูก (cr. หนังสือเลี้ยงลูกแบบโลมาของแพทย์หญิงชิมิ เค คัง)